Dixieland กว่าจะมาเป็น Jazz

เอาเพลงกับประวัติมาเล่าให้ฟังครับ

จากตอนที่แล้ว Blues บลูส์คืออะไร เล่นยังไง หาฟังได้ที่ไหน มาดูวีดีโอของ Ken Burns ต่อนะครับ

เริ่มจากนาย Buddy Bolden แอฟริกัน-อเมริกัน (ไม่นิยมเรียกว่านิโกรหรือคนผิวดำแล้วนะครับ) ที่เรียกว่า Big Noise เพราะนายคนนี้เล่นทั้งทรัมเป็ตและคอร์เน็ต (ตัวเล็กกว่า เสียงนุ่มกว่า แต่ระดับเสียงเท่ากัน) มาจากโบสถ์ครับ เขาเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มเล่นในสไตล์นี้ ว่าแต่มันเป็นยังไงกันนะ เจ้า Dixieland มาฟังคนนี้ครับ Wynton Marsalis

Wynton Marsalis วินสตัน มาร์แซลลิส

Wynton Marsalis นักทรัมเป็ตสองรางวัลแกรมมี่ในปีเดียวกัน สาขาคลาสสิก และแจ๊ส

Wynton Marsalis นักทรัมเป็ตสองรางวัลแกรมมี่ในปีเดียวกัน สาขาคลาสสิก และแจ๊ส

อย่างที่ว่าครับ เขาได้รางวัลแกรมมี่ในปีเดียวกัน ทั้งสาขาแจ๊สและคลาสสิก และเป็นผู้พยายามสร้าง New-Orlean Jazz สมัยใหม่ขึ้น และได้รับเกียรติให้มาอธิบายในตอนนี้ครับ

วินาทีที่ 1.41 เขากล่าวว่า Buddy Bolden เล่นเพลงในแบบ Big Four แบบเพลงมาร์ช เช่น เพลง Stars and Stripes ในคลิปครับ

วินาที 2.30 เขาผสมเอาเสียงตะโกน เสียงร้องไห้ และเสียงแวดล้อมอื่นเข้ามาใส่ กลายเป็นเสียงอย่างที่เขาเล่นครับ ทรัมเป็ตหรือคอร์เน็ต ก็จะทำหน้าที่เล่นทำนองหลัก (Melody) ในแบบดังกล่าวครับ

วินาที 3.20 เล่าถึงเครื่องดนตรีอีกชิ้น คือ คลาริเน็ต ทำหน้าที่เป็นเสียงที่แทรกขึ้นมาหลังแต่ละ Phrase ของทรัมเป็ต ดังที่เขาร้องครับ

จากวันนี้ที่ผมได้ไปเล่นคอนเสิร์ต งานรวมใจชูชาติ และได้มีโอกาสฟังคอนเสิร์ตของอ.วิลเลียม ก็ได้ทราบว่า เรียกว่า obbligato ซึ่งมีความหมายคล้าย Continuvo ที่แปลว่า เล่นตามใจผู้เล่นนั่นเองครับ

ส่วนอีกเครื่องดนตรีที่ไม่ได้กล่าวถึง คือ ทรอมโบน ครับ มีหน้าที่เล่นไลน์เสียงต่ำ

ทั้งสามเครื่อง คอร์แน็ต คลาริเน็ต ทรอมโบน จะโซโลพร้อมกัน อาจเรียกว่า Polyphony แต่ละคนจะทำหน้าที่ต่างกันไป คอร์เน็ตเล่น Melody หลัก ผสมผสานกับ Effect แวดล้อม คลาริเน็ตจะเล่นเร็วสุดหลังวรรคเพลงของคอร์เน็ต ส่วนทรอมโบนเล่นอัตราส่วนยาวสุดมักเป็นเสียงลาก และมี Effect ของการลากเสียงจากต่ำ-สูง หรือ สูง-ต่ำ

คอร์เน็ต กับ ทรัมเป็ต

คอร์เน็ต กับ ทรัมเป็ต เสียงคล้ายกัน แต่คอร์เน็ตจะนุ่มกว่าเพราะท่อโค้งกว่าและเป็น Conical Pipe Shape คือ ท่อค่อยๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ทรัมเป็ตเสียงจะแผดดังกว่า เพราะเป็น Tube Pipe Shape คือ ท่อไม่ค่อยกว้าง แต่จะมาบานออกตรงปลายทางก่อนถึงลำโพง จะความโค้งท่อมีจำนวนโค้งน้อยกว่า โดยปกติ ถ้าฟังเดี่ยวๆ มักไม่ค่อยเห็นความแตกต่างครับ และนักทรัมเป็ตทุกคนเล่นคอร์เน็ตได้แน่นอนครับ

การจัดวง Dixieland

การจัดวง Dixieland ดังรูปครับ เครื่องเบสอาจเป็น ซูซาร์โฟน (Sousaphone) ที่เป็นงวงช้างใหญ่ๆ หรือดับเบิ้ลเบสใหญ่ ก็ได้ และอาจใช้แบนโจเล่นด้วย (ไม่มีกีตาร์เพราะสมัยนั้นยังไม่มีแอมป์ ทำให้นิยมแบนโจ ซึ่งมีเสียงดังกว่า) บางครั้งอาจเรียก Dixieland นี้ว่า Disneyland……. –‘ ไม่ใช่ครับ แหะ แหะ อาจเรียกว่าเป็น New Orleans Jazz ฟังแล้วจะได้อารมณ์เหมือนนั่งอยู่ริมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของดนตรีในลักษณะนี้ทีเดียว

ปกติเดี๋ยวนี้หาฟังเพลงแบบนี้ยากแล้วครับ ทุกๆ ปี ทาง AUA จะนำศิลปิน Dixieland มาเล่นให้เราฟังครั้งหนึ่งครับ ลองติดตามดู ส่วนเพลงที่เราอาจจะเคยได้ยิน ลองฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ “เพลงเตือนใจ” หรือ “Old Fashion Melody” ดูนะครับ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่นิยมเล่นในสไตล์ดังกล่าว

ผมเองเคยเล่นกับวงสไตล์นี้อยู่บ้าง กับลูกสาวของมือทรอมโบน (จำชื่อไม่ได้แล้ว ติดอยู่ที่ปาก) ชาวฟิลิปปินส์ ครับ

แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2009 ผมได้มีโอกาสเล่นในงานรวมใจชูชาติ ซึ่งจัดที่ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์​ บางเขน ซึ่งเป็นงานรำลึกถึง ผู้ริเริ่มการปฏิรูปที่ดินของประเทศไทย ศ.ดร.ไชยยงศ์ ชูชาติ ท่านเองชอบเพลงแจ๊สเช่นกัน ครับ ในงานก็จะมีสองวงคือ Pomelo Town หรือ Mahidol Jazz นั่นเอง จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล และ Bangkok Amateur Bigband หรือชื่อเล่นว่า ICU Band ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่จากศิษย์เก่า CU Band ซึ่งมีคอนเสิร์ตทุกปีในวันทรงดนตรี 20 กันยายน ที่หอประชุม จุฬาฯ

ผมได้อัดไว้สองเพลง เพลงแรก Second Line เป็นเพลงของ Wynton Marsalis ซึ่งเอาแนวคิดของ New Orleans Jazz มาทำครับ เรียบเรียงโดย มือทรัมเป็ตแจ๊สดาวรุ่งของไทย น้องสะริด สฤษฎ ตันเป็นสุข ครับ (คนที่เล่นทรัมเป็ตในคลิป) และวง (อ.วิลเลี่ยม กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ, อ.โจ้ ดริน พันธุมโกมล,​ อ.หลง นพดล ถิรธราดล, อ.คม วงษ์สวัสดิ์,​ และน้องมือทรอมโบน ธนพงศ์ ไชยบุรุษ อีกคนนึง)

ส่วนอีกคลิป ขับร้องโดย น้าเปี๊ยก ยาจิต ศรีดิลก ครับ นักร้องรุ่นเก๋า เสียงดีมากมาย ในเพลง Love For Sale จริงๆ ในงานมีเพลงเหนืออีกเพลง คือ น้อยใจยา (เสเลเมา) แต่ไม่ได้อัดไว้ เพราะต้องแสตนด์บายเตรียมเล่นวงถัดไปครับ

มี 3 ความคิดเห็น สำหรับ “Dixieland กว่าจะมาเป็น Jazz”

  1. patchara

    ชอบ Wynton Marsalis มากครับ (ทั้งที่เคยฟังไม่กี่เพลง 😛 )

  2. Jazz Timeline และเชิญชม Jazz Concert จาก ม.รังสิต | Plajazz

    […] Dixieland กว่าจะมาเป็น Jazz Blues บลูส์คืออะไร เล่นยังไง หาฟังได้ที่ไหน […]

  3. มะนาว

    อิอิ เคยเล่น ทั้ง2เครื่องเลยค่ะ

    ทรัมเป็ต และคลอเน็ต เปนเครื่องดนตรี เล่นแล้วสนุกมากค่ะ

ทักทาย

หากต้องการให้มีรูปอวตาร (avatar) ประจำอีเมล กรุณา สมัครที่ Gravatar