Clifford Brown: คลิฟฟอร์ด บราวน์ อัจฉริยะผู้จากไปก่อนวัย

เล่าเรื่อง คลิฟฟอร์ด บราวน์ (Clifford Brown) (1930-1956) นักทรัมเป็ตแจ๊ส หนึ่งในผู้ริเริ่มดนตรีแจ๊สในแนวฮาร์ดบอบ Hard Bop อัจฉริยะที่จากไปก่อนวัย แต่ได้ทิ้งมรดกอันทรงอิทธิพลกับคนแจ๊สรุ่นหลัง

ต้องบอกกันก่อนครับว่า บล็อกนี้มาจากบางส่วนของบทความในวิชา MUS 651 ดนตรีแจ๊สและการวิเคราะห์ (Jazz Styles and Analysis) อาจจะมีบางส่วนอ่านยากอยู่บ้างครับ ยังไงจะพยายามปรับให้อ่านง่ายขึ้นครับ อาจมีคำพูดผมแทรกเป็นระยะๆ กันเด็กเอาไปทำรายงาน (555)

คลิฟฟอร์ด บราวน์ เป็นใคร?

Who is Clifford Brown?

ถ้าพูดถึงนักทรัมเป็ตแจ๊ส หลายๆ คนอาจนึกถึง หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) กับเสียงแหบเสน่ห์มีความสุขของเขา หรือ ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ผู้มีเสียงลุ่มลึก ฉายา Prince of Darkness แต่วันนี้อยากให้มาทำความรู้จัก คลิฟฟอร์ด บราวน์ นักทรัมเป็ตอัจฉริยะผู้นี้กันครับ

Clifford Brown ชื่อเล่น Brownie

Clifford Brown ชื่อเล่น Brownie

คลิฟฟอร์ด บราวน์ (Clifford Brown) (1930-1956) มีชื่อเล่นว่า “บราวน์นี่” เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1930 ที่ เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการยอมรับในฐานะนักทรัมเป็ตแจ๊สอเมริกัน ผู้มีอิทธิพลต่อนักทรัมเป็ตแจ๊สรุ่นหลัง — ถ้ารักทรัมเป็ต ชอบทรัมเป็ต อย่าลืมหาฟังท่านๆ เหล่านี้นะครับ — อย่างเช่น ลี มอร์แกน (Lee Morgan) (1938-1972), เฟรดดี้ ฮับบาร์ด (Freddie Hubbard) (1938-2008), วู๊ดดี้ ชอว์ (Woody Shaw) (1944-1989), วินสตัน มาร์แซลลิส (Wynston Marsallis) (1961-ปัจจุบัน), เทอเรนซ์ แบลนชาร์ด (1962-ปัจจุบัน) [1]

ในปี 1945 คลิฟฟอร์ด บราวน์ ได้รับทรัมเป็ตจากคุณพ่อของเขาขณะที่เรียนในชั้นมัธยมศึกษา เละเรียนการประสานเสียงแจ๊ส ทฤษฎีดนตรี ทรัมเป็ต, เปียนโน และเบส กับอาจารย์ โรเบิร์ต โลเวอร์รี่ (Robert Lowery) [2] ในแง่การเล่นเขาได้รับอิทธิพลจาก แฟตส์ นาวาโร (Fats Navarro) (1923-1950) ซึ่งเป็นช่วงที่คลิฟฟอร์ด บราวน์ รับงานเล่นดนตรีที่ฟิลาเดลเฟีย — มีอาจารย์สอนแจ๊สท่านนึงเคยบอกผม แจ๊สนั้นสอนกันไม่ได้ ให้ไปหาเอาเอง ออกไปรับงานเล่นดนตรีซะ ดูว่าแจ๊สเขาเล่นอย่างไรกัน — ต่อมา ในปี 1949 คลิฟฟอร์ด บราวน์ ได้รับทุนเรียนที่แมรี่แลนด์ เสตท คอลเลจ (Marryland State College)

Dizzy Gillespie แตรงอน แก้มตุ่ย

Dizzy Gillespie แตรงอน แก้มตุ่ย

โอกาสมาถึงเขาเมื่อเบนนี แฮริส (Benny Harris) (1919-1975) นักทรัมเป็ตในวงของดิซซี่ กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) (1917-1993) — ลุงแก้มป่อง เป่าทรัมเป็ตงอๆ นั่นแหละครับ — เบนนี แฮริส มาทำงานสาย คลิฟฟอร์ด บราวน์ จึงถูกเรียกให้มาเล่นแทนและเขาสร้างความประทับใจให้กับดิซซี กิลเลสปี เป็นอย่างมาก — จำไว้ มาสายครั้งเดียว อาจโดน “เสียบ” ได้ครับ — ดิซซี่ กิลเลสปี ยังแนะนำเขาให้รู้จักกับมือกลอง แมกซ์ โรช (Max Roach) (1924-2007) หรือแม้กระทั่ง ชาร์ลี ปาร์คเกอร์ (Charlie Parker) (1920-1955) ยังแนะนำเขาให้กับมือกลอง อาร์ต เบลคคี (Art Blakey) (1919-1990) [3] — ใครว่าฝรั่งไม่เล่นพรรคเล่นพวก คอนเน็กชั่นนั้นสำคัญนะครับ —

น่าเสียดายที่ คลิฟฟอร์ด บราวน์ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1950 ซึ่งทำให้เขาต้องพักรักษาตัวนานถึง 1 ปี ก่อนที่นักทรัมเป็ตชื่อดัง ดิซซี่ กิลเลสปี จะผลักดันเขากลับเข้ามาเล่นทรัมเป็ตอีกครั้ง

[1] ประทักษ์ ​ใฝ่ศุภการ. ฤาจะร้อนเร่าเท่าแจ๊ส, กรุงเทพมหานคร: สามัญชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2545. หน้า 145
[2] David N. Baker. The Jazz Style of Clifford Brown, USA: Studio 224, 1982.
[3] Scotty Barnhart. The World of Jazz Trumpet. WI, Hal Leonard, 2005 pp. 211.

สไตล์การเล่นของ คลิฟฟอร์ด บราวน์

Clifford Brown Style

อย่างที่กล่าวมา สไตล์การเล่นของ คลิฟฟอร์ต บราวน์ นั้นได้มาจาก แฟตต์ นาวาโร เสียงทรัมเป็ตของเขา มีลักษณะนุ่ม อุ่นและกลม ซึ่งแตกต่างจากเสียงของนักทรัมเป็ตคนอื่นๆ ที่จะพุ่งกว่า คลิฟฟอร์ด บราวน์ สามารถเล่นโน้ตได้ในทุกช่วงเสียง (Range) ของทรัมเป็ตโดยยังคงเสียงที่ดีและควบคุมลักษณะเสียง (Articulation) ได้ชัดเจนตลอดทั้งช่วงเสียงของทรัมเป็ต ไม่ว่าจะเป็นช่วงเสียงสูง หรือจังหวะที่เร็วมาก ซึ่งควบคุมได้ยากสำหรับทรัมเป็ต — ลองฟังนาที 1:16 ในคลิปครับ จะเร็วไปไหน —

นอกจากนี้ในการอิมโพรไวส์ คลิฟฟอร์ด บราวน์ เลือกใช้เสียงประสานและสร้างประโยคทางดนตรีด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อน และมีความเป็นบีบอบอยู่มาก ลักษณะการ อิมโพรไวส์ของคลิฟฟอร์ด บราวน์ ยังได้รับอิทธิพลจากนักทรัมเป็ตแจ๊สในยุคนั้น คือ ดิซซี่ กิลเลสปี และไมลส์ เดวิส (Miles Davis) (1926-1991) อีกด้วย [4]

[4] Barry Kernfeld. The New Grove Dictionary of Jazz. 2nd ed, New York, Macmillan Publishers Limited, 2002. pp.318

คำไว้อาลัยของดิซซี่ กิลเลสปี ที่มีต่อ คลิฟฟอร์ด บราวน์

Memorial Speech from Dizzy Gillespie for Clifford Brown

คลิฟฟอร์ด บราวน์ เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในวันที่ 26 มิถุนายน 1956 ด้วยวัยเพียง 25 ปี ขณะเดินทางไปกับนักเปียนโน ริชชี่ พาวเวล (Richie Powell) (1931-1956) ซึ่งเป็นน้องชายของ บัดส์ พาวเวล (Bud Powell) (1924-1966) มือเปียนโนชื่อดัง — ถ้าอ่านเรื่องของเขาจะเศร้ามาก เพราะเป็นวันครบรอบแต่งงาน 2 ปีของ คลิฟฟอร์ด บราวน์ — ดิซซี กิลเลสปี ได้กล่าวคำไว้อาลัยถึง คลิฟฟอร์ด บราวน์ ไว้ว่า

“คงไม่มีใครที่จะมาแทนศิลปะที่ คลิฟฟอร์ด บราวน์ สร้างไว้ได้ เราได้แต่หวังว่า ในอนาคต ดนตรีแจ๊สจะสร้างศิลปะที่ชดเชยได้กับความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งในครั้งนี้”… ดิซซี กิลเลสปี [5]

“There can be no replacement for his artistry, and I can only hope jazz will produce in the future some compensation for this great loss to our cause.” … Dizzy Gillespie

แม้ คลิิฟฟอร์ด บราวน์ จะมีผลงานเพียงแค่ช่วงสั้นๆ แค่ 4 ปี แต่นับได้ว่าเขามีอิทธิพลต่อนักทรัมเป็ตแจ๊ส และนักดนตรีแจ๊สหลายท่านในเวลาต่อมา เพลง I Remember Clifford ก็เป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดย เบนนี่ โกลสัน (Benny Golson) (1929-ปัจจุบัน) เพื่อระลึกถึงเขา สำหรับผู้ที่สนใจในการอิมโพรไวส์ในสไตล์ของคลิฟฟอร์ด บราวน์ สามารถหาได้จากหนังสือ A New Approach to Jazz ของ เจมี เอเบอร์โซลด์ (Jamey Aebersold) (1939-ปัจจุบัน) ในเล่มที่ 53 [6] นอกจากนี้ยังมีมรดกที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ทุนการศึกษา และคอนเสิร์ตแจ๊สเฟสติวัล ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงเขา

Jamey Aebersold vol 53 - Clifford Brown

Jamey Aebersold vol 53 - Clifford Brown

[5] Scotty Barnhart. The World of Jazz Trumpet. WI, Hal Leonard, 2005.
[6] Jamey Aebersold. Volume 53: Clifford Brown: Joy Spring, NewAlbany, Indiana, 1992.
[7] Wikipedia, Clifford Brown, Retrived December 13, 2011 from http://en.wikipedia.org/wiki/Clifford_Brown

ทักทาย

หากต้องการให้มีรูปอวตาร (avatar) ประจำอีเมล กรุณา สมัครที่ Gravatar