ภงด 90 ภาษีนักแสดงดนตรี: ประสบการณ์โดนข่มขู่ของผม

คนไทยทุกคนต้องเสียภาษีเงินได้ ผมเองในฐานะนักดนรีก็ต้องเสียภาษี ภงด 90 ซึ่งแจกแจงเป็น 40(2) ค่าจ้าง และ 40(8) ภาษีนักแสดงดนตรีสาธารณะ ผมเองก็มีประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดี ออกตัวก่อนว่าแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เคสผมอาจไม่สามารถใช้อ้างอิงเปรียบเทียบได้ แต่เอามาแชร์กันเป็นวิทยาทานครับ

นักดนตรีเป็นอาชีพอิสระ แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม

เงินภาษี ที่จัดเก็บนั้นเอาไปสร้างสิ่งดีๆ กลับมายังตัวเราและลูกหลาน ทุกคนต้องเสียภาษีมากบ้างน้อยบ้าง อาชีพนักดนตรี นั้น บางคนก็ว่าเต้นกินรำกิน บางคนก็ถาม “คุณเล่นดนตรี แล้วอาชีพจริงๆ ของคุณคืออะไร?” ฟังแล้วก็ให้น่าน้อยใจว่า เอ นักดนตรี นั้นไม่จัดว่าเป็นอาชีพเหรอ แต่พอถึงเวลาเสียภาษี เราก็จ่ายตามจริงนะ อาจจะมากกว่าหลายๆ ท่านที่มีโน่นนั่นนี่ ประกันสังคมเอย LTF,RMF เอยมาลดหย่อนได้อีก แต่นักดนตรีไม่มีครับ แถมต้องแจกแจงด้วย ลองอ่านบล็อกของน้องอาร์ท มือเบสวง iHear “iArtFunky: นักดนตรี อาชีพที่เป็นมากกว่าอาชีพ” ดูนะครับ

“คุณเล่นดนตรี แล้วอาชีพจริงๆ ของคุณคืออะไร?”

สำหรับผมเริ่มเล่นดนตรีเป็นรายได้เสริมจากที่สอนพิเศษครับ เมื่อก่อนตอนเล่น CU Band ก็ไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใดครับ เพราะเป็นกิจกรรมชมรม รายได้ที่เข้ามาก็เอามาใช้ซื้อเครื่องดนตรี/เครื่องเสียง และทำกิจกรรมกันภายในครับ แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพนักดนตรีของผมครับ พอเรียนจบช่วงที่ต่อโทอยู่ก็มาสอนพิเศษพร้อมๆ กับรับงานดนตรีครับ

ในปีแรกหลังจบ ผมก็ไปเสียภาษีที่เขตก่อน เริ่มจากการจดทะเบียน เลขประจำตัวผู้เสียภาษี บุคคลธรรมดาก่อน ก็เริ่มมีรายได้จากการ Backup (ผมเริ่มจาก Backup และอัดเสียงให้ Smallroom, KaiJo Brother) ผมก็ได้รายได้แยกเป็นคนๆ เฉพาะส่วนของผมครับ ต่อมาเวลาไปเล่นดนตรีรับงานเอง ทางผู้จ้างไม่ค่อยสะดวกในการออกใบกำกับภาษีเป็นรายบุคคลครับ ลองนึกดู แค่สามคนก็แย่แล้ว บางทีมีเป็นสิบคน! จึงนิยมจ่ายรวมเป็นใบเดียว ก็ต้องผลัดกันรับภาษีครับ ภายหลังผมจึงจด คณะบุคคล ขึ้นมา เวลานายจ้างจ่ายให้คณะบุคคล ซึ่งหักภาษีได้ 60,000 บาท แทนที่จะหักได้ 30,000 บาทในแบบบุคคลธรรมดา

ปัญหาก็เริ่มขึ้นจากคนหัวใสหลายคนที่แอบไปจดคณะบุคคลไว้ซะเยอะเลย เพื่อกระจายรายได้ให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งกรณีนี้ทางสรรพากรได้วางมาตรการในการตรวจสอบไว้บางส่วนแล้ว แต่ในส่วนของผมจดไว้แค่ชื่อเดียวครับ และถ้าเป็นงานของตัวเองก็จะใช้บัตรประชาชนของตัวเองรับ แต่ถ้าเป็นงานที่จ้างวงก็จะใช้คณะบุคคลในการรับ

เพลงบลูส์ รำพันถึงภาษีนักแสดง

เพลงบลูส์ รำพันถึงภาษีนักแสดง

คณะบุคคล

ที่ต้องมาเล่าเพราะ ปกติแล้ว เวลาทำภาษีผมจะไปที่สรรพากรเขต เพื่อให้มันถูกต้องจริงๆ เนื่องจากมีอยู่ปีนึงผมโดนย้อนหลังเพราะใส่รายละเอียดผิด เลยต้องการทำให้ถูกต้อง ปีที่ผ่านๆ มาก็จะมีปัญหาเรื่องไม่รู้จะกรอกช่องไหน 40(2) 40(8) เพราะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน ในส่วนของสรรพากรเขตก็จะมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโดยดูจาก

1. ถ้าเป็นการแสดงดนตรีโดยไม่มีอุปกรณ์เครื่องจักร (ปัญหาคือ เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เป็นเครื่องจักรหรือไม่?) จะเป็น 40(8) ค่าแสดงดนตรีสาธารณะ ส่วนนี้นายจ้างต้องหัก 5% และส่วนของเราจะหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 60%

2. แต่ถ้ามีอุปกรณ์จะนับเป็นค่าจ้างทำของ หรือค่าจ้างที่มิใช่เงินเดือน จะอยู่ใน 40(2) นายจ้างหักแค่ 3% และส่วนของเราจะหักค่าใช้จ่ายได้ 40%

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ งานที่ผมรับก็จะออกมาทั้งสองแบบ แถมเขียนสลับกันด้วย เช่น ค่าแสดงดนตรี แต่หัก 3% จะใส่ช่องไหนดี? จุดนี้เป็นจุดที่ผมต้องเจอภาษีย้อนหลังนั่นเอง ต่อมาผมเลยจดคณะบุคคล ให้ถูกต้องครับ แล้วก็ทางสรรพากรพื้นที่ ได้แจ้งไว้ว่าต่อไปไม่ว่าเขาจะเขียนค่าอะไรให้ดูที่ % ครับ ถ้าหัก 3% ก็อยู่ 40(2), ส่วน 5% ก็อยู่ 40(8) เลยต้องมานั่งหารดูทีละใบว่า 3% หรือ 5%

ประสบการณ์โดนข่มขู่ของผม

พอปีนี้ก็มาทำที่สรรพากรเขตปกติ แต่น้องเจ้าหน้าที่สาว ที่เขาช่วยคำนวณแบบน่าจะเพิ่งเข้ามาใหม่ก็เลยดูงงๆ ครับ พอไปถามนายใหญ่ในห้องเข้า นายใหญ่แกเลยเดินมาโชว์พาว บอกว่า “ผมไม่เชื่อว่าคุณเล่นดนตรีได้ประมาณ 300,000 บาทต่อปี ต้องมีอีกแต่ไม่ได้ยื่น ให้ไปประเมินมา เพื่อยื่น ภงด 94” ซึ่งส่วนคณะบุคคลผมยื่นครบแล้วล่ะ บุคคลก็อีกประมาณ 200,000 บาทต่อปี ถ้าหารกลับมาเป็นเงินเดือนตกเดือนละ 40,000 กว่าบาท ก็ถือว่าเยอะแล้วนะครับ สำหรับนักดนตรี ในส่วนที่เพื่อนรับเขาก็ผลัดกันกับเรา เพราะทางปฏิบัติ เราให้นายจ้างแยกเป็นใบๆ ไม่ได้เลยครับ

อีกคำที่ทำให้ผมคิดว่าเขาน่าจะขู่คือ “ไอ้พวกคณะบุคคลเนี่ย จดๆ มากันเยอะๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีทั้งนั้น คุณรีบไปประเมิน ภงด 94 มาเร็วๆ จ่ายค่าปรับด้วย” ….อ้าวๆ คนไทยนี่ชอบเหมารวมนะ ผมเองจด 1 คณะ แถมใช้เป็นคุณแม่ ทำให้หักภาษีเลี้ยงดูบิดามารดาไม่ได้ด้วย ที่จดเพื่อจัดการภาษีนี่นา ส่วนที่จดหลายๆ คณะ ก็น่าจะตรวจสอบได้ หรือจำกัดได้ว่าจดได้ไม่เกินกี่คณะ เลยคิดว่าท่าจะไม่ดีละ เลยตอบว่า งั้นผมยื่นทางอินเตอร์เน็ตเหมือนเดิมดีกว่า

ทางนี้ก็เลยขู่ต่อ “งั้นผมจะตรวจสอบคุณ ว่าแล้วก็เอาใบตรวจสอบเปล่าๆ มายื่นโชว์” ผมเลยเดินออกมาเลย เพราะไม่มีชื่อผมให้เขาเห็นนี่นา ไงเขาก็ไม่มานั่งดูหน้าตา แล้วก็หัวเสียกลับมาโทรถามที่ปรึกษาบัญชีของคุณพัชร ดูบล็อกพัชรใน วิธีจ่ายภาษี online ภ.ง.ด. 91 บุคคลธรรมดา ซึ่งก็ได้คำตอบให้สบายใจว่า ทางเขตต้องทำยอดให้ได้ก็จะพยายามให้จัดเก็บภาษีได้ตรงตามเป้าที่สุด และก็คงจะเจอที่หลีกเลี่ยงภาษีมาเยอะทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ เลยจะเขี้ยวสักหน่อย ในส่วนของผมก็ปลอบว่าไม่ต้องกลัว เราทำของเราให้ถูกยื่นให้ครบ ถ้าต้องตรวจสอบจริงๆ เขาจะมีหลักการชัดเจน อย่างพวกร้านก๋วยเตี๋ยวก็จะส่งสายสืบไปนั่งนับชาม ส่วนของผมเขาต้องระบุชื่อ ไม่ใช่เอาใบเปล่ามาขู่ อย่างดนตรีก็คงต้องตามไปงานแต่งงาน แต่ของผมวันนึงอย่างมาก็สองงาน แต่ส่วนใหญ่งานเดียวต่อสัปดาห์ ยกเว้นช่วงพีก อย่างหยุดยาวก็อาจไม่มีงาน ยังสงสัยว่าจะทำยังไง แต่เชื่อมั่นว่าคงไม่มั่วแน่นอนครับ

ในส่วนของผมพอวิเคราะห์แล้วน่าจะเป็นความซวยของผมเจอเจ้าขุนมูลนายมาโชว์พาวลูกน้อง แถมพอไปนั่งคุยกับญาติที่ทำร้านอาหารก็เลยรู้ว่า ปกติก็มีมาตรวจนับลูกค้าเหมือนกัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐคนที่ผมเจอเนี่ยชอบมากินฟรีกับสาวๆ แถมไม่ซ้ำหน้าอยู่บ่อยๆ แหมเสียดาย น่าจะเอากล้องไปตั้งน่าจะดีครับ ไม่อยากให้มีคนแย่ๆ ทั้งข้างหน้าข้างหลัง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนครับ

ยื่นแบบ ภงด 91 ออนไลน์ สะดวกกว่า

สุดท้ายผมยื่นออนไลน์ ส่วนของบุคคลธรรมดา 3 วันได้ แต่ของคณะบุคคลช้าสักนิด แถมผมต้องยื่นอีกรอบเพราะมีนายจ้างเพิ่งส่งเอกสารมาเลยต้องยื่นเพิ่มครับ T_T ก็หวังว่าบล็อกนี้คงไม่ทำให้ถูกเพ่งเล็งนะครับ ไม่อยากจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการแย่ๆ บางคน

มี 2 ความคิดเห็น สำหรับ “ภงด 90 ภาษีนักแสดงดนตรี: ประสบการณ์โดนข่มขู่ของผม”

  1. iArtFunky

    “ฟังแล้วก็ให้น่าน้อยใจว่า เอ นักดนตรี นั้นไม่จัดว่าเป็นอาชีพเหรอ”
    น่าน้อยใจจริงๆครับ TT

  2. Memie Motto

    เราเป็น1ในนักดนตรีที่ไม่มีอาชีพจริงๆเหมือนกันค่ะ เล่นแต่ดนตรีหาเงิน ทำธุรกรรมกะเค้าไม่ได้สักอย่าง ไร้ตัวตนในสถาบันการเงินค่ะ

ทักทาย

หากต้องการให้มีรูปอวตาร (avatar) ประจำอีเมล กรุณา สมัครที่ Gravatar