Philosophy of Jazz Music Education

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา Jazz Pedagogy สอนโดย อ.เด่น อยู่ประเสริฐ ผู้เรียนจะต้องเขียน”ปรัชญา” หรือ “Philosophy” ใน Jazz Music Education

Jazz Pedagogy: Philosophy of Jazz Music Education

ผมเองเคยถามนักดนตรีแจ๊สในบ้านเราว่า ผมจะไปเรียนดนตรีแจ๊สครับ ก็ได้คำตอบจากรุ่นพี่ที่ผมเคารพหลายท่านว่า แล้วมันจำเป็นไหมที่ต้องเรียนแจ๊ส? ถ้าจะเป็นนักดนตรีแจ๊สไม่ต้องเรียนก็ได้

หลังจากที่ผมซึ่งมีพื้นฐานไม่ได้จบทางดนตรี (ผมจบวิศวะ จุฬาฯ รหัส 38) ได้มีโอกาสมาเรียนที่วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต และได้ไปศึกษาต่อเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เนเธอร์แลนด์ ก็จะขอเสนอ “ปรัชญา” ของ “การศึกษาดนตรีแจ๊ส” ดังนี้

ดนตรีแจ๊ส นั้น มาจากการเล่นมากกว่าการเรียน แต่สังคมของการเรียนดนตรีแจ๊สเอื้อต่อการเรียนรู้ดนตรีแจ๊ส นักดนตรีจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ไม่ใช่แต่เพียงพรสวรรค์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาจะต้องมีสังคมดนตรี มีบรรยากาศ (Environment) ที่เหมาะต่อการพัฒนาตัวเองด้วย จริงอยู่ การเล่นดนตรีอาชีพ นั้น สามารถสร้างนักดนตรีแจ๊สที่ดีได้แน่ แต่ต้องอาศัยเวลานาน และไม่ใช่ทุกคนที่จะขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ เช่นเดียวกัน การเรียนดนตรีแจ๊สเองก็คงไม่ได้สร้างนักดนตรีแจ๊สที่ดีได้แน่ๆ แต่เป็นที่ๆ นักดนตรีที่สนใจในด้านแจ๊สจะได้เข้ามาหาวัตุดิบ (Material) เพื่อพัฒนาตัวเอง

ถ้าเราลองนึกดูว่าเมื่อก่อนก็ไม่มี วิทยาลัยดนตรีด้านแจ๊ส ก็ยังมีนักดนตรีแจ๊สดีๆ ได้ จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าลองศึกษาว่า แต่ละประเทศที่มีการเปิดสอนดนตรีแจ๊สนั้นมีการพัฒนากันไปเพียงใด ก็จะรู้ว่า การศึกษาดนตรีแจ๊ส นั้นช่วยร่นระยะเวลา จากเดิม 1920-1970 ก็อาจจะเหลือเพียงไม่กี่ปี Young Generation ที่อายุไม่เกิน 20 ปี สามารถเล่นดนตรีได้ดีกว่านักดนตรีที่อายุมากๆ เสียอีก ซึ่งกลุ่มเลือดใหม่พวกนี้เขายังมีเวลาอีกหลายสิบปีในการพัฒนาวงการดนตรี และแน่นอน สำหรับนักดนตรีรุ่นต่อๆ ไป

จากที่กล่าวมา ถ้าไม่มีการศึกษาดนตรีแจ๊ส เราก็จะมีแต่นักดนตรี “มวยวัด” ซึ่งเล่นได้ดีแน่นอน แต่ไม่สามารถถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลัง นอกจากนี้ยังไม่สามารถพัฒนาขยับขึ้นไปใน Level ที่สูงกว่าได้

ปรัชญา การศึกษาดนตรีแจ๊ส

ดนตรีแจ๊ส ได้จากการเล่น ไม่ได้จากหนังสือเรียน แต่การศึกษาดนตรีแจ๊ส เป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมนักเรียนดนตรี ให้เล่นดนตรีแจ๊ส พัฒนาเทคนิคการเล่น ทฤษฎีและการวิเคราะห์ การแต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานแจ๊ส และ มีความเข้าใจ ซาบซึ้งในดนตรี เพื่อดำรงไว้ซึ่ง วัฒนธรรมการเล่นดนตรีแจ๊ส และส่งต่อไปยังนักดนตรีแจ๊สรุ่นหลัง

ดังนั้นถ้าดูจากการเรียนดนตรีแจ๊สในบ้านเรา จากที่ผมได้ติดตามกิจกรรมของแต่ละวิทยาลัย จะยกตัวอย่าง 3 มหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนแจ๊ส คือ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล, วิทยาลัยดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร, วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต เปรียบเทียบกับการเรียนดนตรีที่ Prins Claus Conservatoire, Groningen, Netherlands จะพบข้อเหมือนข้อต่างที่สอดคล้องกับ “ปรัชญา” ที่ผมเสนอดังนี้ครับ

1. วิชาเรียน จะมีวิชา Jazz Theory, Jazz Analysis, Improvisation, Private Lesson (วิชาเครื่องเอก), Ensemble (วิชารวมวง) และการเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการเล่นมากกว่าการนั่งจดบันทึก เน้น Project และการเล่นรวมวง มากกว่า การนั่งท่องทฤษฎี ทั้งนี้เพื่อเตรียม “วัตถุดิบ” ที่จะให้นักเรียนสามารถออกไปเล่นดนตรีในระดับอาชีพได้

2. บรรยากาศการเรียน ทุกๆ วิทยาลัย จะมีการจัด Workshop และ Master Class โดยนักดนตรีอาชีพ จริงๆ และเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ฟัง และนักการศึกษาดนตรีให้การยอมรับ อาจารย์ที่มานั้นอาจไม่ใช่เป็นอาจารย์ แต่มักจะเป็น “ศิลปิน” (Artist) ซึ่งสามารถแสดงให้ดูทีละขั้นตอน และแชร์ประสบการณ์ในการเป็นนักดนตรีแจ๊สอาชีพ ซึ่งถ้าไม่มีการเรียนการสอนดนตรีแจ๊ส เราคงไม่รู้ว่า ศิลปินเหล่านั้น ก้าวขึ้นมาในจุดนี้ได้อย่างไร

3. คอนเสิร์ตนักเรียน ถ้ามีโอกาสได้ไปชมคอนเสิร์ตนักเรียน จะพบว่า เด็กๆ เหล่านี้เล่นได้ไม่แพ้นักดนตรีอาชีพเลย บางทีก็เล่นดีกว่าด้วย เพราะมีเวลาซ้อมมากกว่า และมีความ “สด” มากกว่า เวทีคอนเสิร์ตเล็กๆ เหล่านี้ เป็นที่ฝึกให้เด็กพร้อมก่อนที่จะออกไปสู่ “สนามจริง” ได้

4. การเรียนรวมวง (Ensemble) การเรียนดนตรีแจ๊ส เป็นเรื่องที่แปลกอย่างนึงคือ นักเรียนกับอาจารย์ สามารถเล่นอยู่วงเดียวกันได้ และสามารถถ่ายทอดกันได้ ที่ผมไปที่เนเธอร์แลนด์ ตัวท่านอาจารย์เองจะบอกเสมอว่า“อาจารย์เองก็ได้ไอเดีย แนวคิดใหม่ๆ จากนักเรียน ส่วนนักเรียนก็จะได้ประสบการณ์ของอาจารย์”

5. การสอบ เป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนขยันมากขึ้น และมักเป็นการสอบภาคปฏิบัติ เพื่อให้เด็กได้รับรู้ถึงความกดดันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ และรู้ถึงการจัดการในสถานการณ์จริง นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ Monitor การเล่นของตนเอง ภายใต้คำแนะนำของอาจารย์

6. การหางานทำ คล้ายกับการหางานทำของนักศึกษาในคณะอื่นๆ แต่การที่มีวิทยาลัยดนตรี ทำให้ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และผู้จ้างสามารถเข้ามาชมความสามารถของเด็กได้ ถ้าไม่มีวิทยาลัย เด็กก็จะต้องหางานเอง ซึ่งไม่ง่าย แต่ถ้ามีวิทยาลัย ตัวรุ่นพี่ และอาจารย์เองก็จะสามารถ Refer เด็กให้ได้

จากที่กล่าวมาทั้งหมด คือ สิ่งที่สำคัญ ในการดำรงอาชีพ “นักดนตรีแจ๊สอาชีพ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียนดนตรีแจ๊ส ยังมุ่งหวังอีกหนึ่งสิ่ง คือ “ความงดงามในดนตรี หรือ สุนทรีย” (Aesthetic) การมีโรงเรียนสอนดนตรี นั้นช่วยให้เป้าหมายในการบรรลุซึ่งสุนทรียศาสตร์ของดนตรีแจ๊ส นั้น บรรลุผลได้ครับ

สำหรับบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เพื่อบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในวงการดนตรีแจ๊สบ้านเราครับ ผิดถูกประการใดขอน้อมรับไว้ และยินดีรับข้อเสนอแนะต่างๆ ครับ

Philosophy of Jazz Pedagogy in my opinion

Philosophy of Jazz Pedagogy

มี 2 ความคิดเห็น สำหรับ “Philosophy of Jazz Music Education”

  1. gd_ab

    จะเล่นแจ๊สต้องซึมซับ ขอบคุณครับ

  2. Ed Hardy eau de toilette

    not simply have the price you want Gucci Outlet Locations throughout a couple different types

ทักทาย

หากต้องการให้มีรูปอวตาร (avatar) ประจำอีเมล กรุณา สมัครที่ Gravatar